ข่าวกฎหมายภาษี ฉบับที่ 226 เดือน ตุลาคม 2558

ข่าวกฎหมายภาษี ฉบับที่ 226 เดือน ตุลาคม 2558

หัวข้อเรื่อง

ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

  • ล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

    1. แก้ไขเพิ่มเติมให้กรรมการหรือที่ปรึกษาของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ครบวาระแล้ว ให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการหรือที่ปรึกษาของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน
    2. กำหนดให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุนมีอำนาจมอบหมายให้บุคคลภายนอกดำเนินการแทนสำนักงานได้บางภารกิจ เช่น การตรวจสอบเครื่องจักร วัตถุดิบ และวัสดุจำเป็น ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
    3. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไของค์การการค้าโลก (WTO) เช่น ยกเลิกกิจการผลิตเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศการบังคับใช้วัตถุดิบในประเทศ และเงื่อนไขการอุดหนุนส่งออกซึ่งเป็นการอุดหนุนที่ต้องห้าม
    4. กำหนดสิทธิและประโยชน์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมมีการทำวิจัยและพัฒนา เช่น ให้คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่ผู้ได้รับการส่งเสริมนำเข้ามา เพื่อใช้ในการทดสอบ วิจัยและพัฒนาตามที่คณะกรรมการกำหนด สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา
    5. คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบสามปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น
    6. คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมหักค่าใช้จ่ายไม่เกินสองเท่าของจำนวนเงินที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้เสียไปในการประกอบกิจการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามเงื่อนไข วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
    7. คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมหักเงินที่ใช้ไปในการลงทุนในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกำไรรวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละเก้าสิบของเงินที่ลงทุนแล้วในกิจการนั้น
    8. ขยายเวลาการจ่ายเงินปันผล เพื่อช่วยให้ผู้ได้รับเงินปันผลได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในกรณีผู้ได้รับการส่งเสริมไม่อาจจ่ายเงินปันผลได้ทันตามกำหนดระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยขยายเวลาการจ่ายเงินปันผลไปอีกหกเดือน ภายหลังสิ้นสุดการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นการถาวร)

  • คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นการถาวร) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

    1. ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นการถาวร ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป
    2. ให้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรที่ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีอากรที่ค้างอยู่หรือที่พึงชำระก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)]

  • คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)] ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

    1. กำหนดให้มีการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและ การให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท สำหรับช่วงกำไรสุทธิที่เกิน 300,000 บาทขึ้นไป ให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิเป็นระยะเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2558 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2559
    2. สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหลังจากรอบระยะเวลาตามข้อ 1 ให้จัดเก็บในอัตรา ดังต่อไปนี้
      1. ร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิ สำหรับกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินสามแสนบาท แต่ไม่เกิน สามล้านบาท
      2. ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เกินสามล้านบาท

ดัชนีความเคลื่อนไหวของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

กฎหมายภาษีอากรที่น่าสนใจ

พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558

คำพิพากษาฎีกาที่ 15187/2556

ลาออกก่อนวันจ่ายโบนัส มีสิทธิได้รับโบนัสหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 2075-2078/2557

“ค่าน้ำมันรถ” ถือเป็นค่าจ้างหรือไม่

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 261)

กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ตามวรรคสามของข้อ 2 (61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

กค 0702(กม.06)/พ./5462 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2556

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจดทะเบียนโดยสำคัญผิดในข้อกฎหมาย

กค 0702/6419 ลงวันที่ 8 กันยายน 2557

ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีมาตรการภาษีจากเงินอุดหนุนโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันอุทกภัยของนิคมอุตสาหกรรม

Comments are closed.

.