หัวข้อเรื่อง
สาระสำคัญตาม ร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่
ล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสรุปได้ดังต่อไปนี้
- ปรับปรุงนิยาม “ผู้ประกอบธุรกิจ” ให้ครอบคลุมถึงบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน และเพิ่มนิยาม “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน”
- ปรับปรุงบทนิยาม “ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด” ให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นผู้มีอำนาจในการออกประกาศหลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด
- เพิ่มเติมบทนิยาม “ปัจจัยสภาพการแข่งขันของตลาด”
- กำหนดให้รัฐวิสาหกิจทุกประเภทต้องอยู่ภายใต้การบังคับตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ กำหนดข้อยกเว้นสำหรับการดำเนินการตามกฎหมาย หรือนโยบายของรัฐที่มีความจำเป็นในการรักษาความมั่งคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือจัดให้มีสาธารณูปโภค
- กำหนดให้มีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่มีความเป็นอิสระที่ผ่านกระบวนการคัดสรรและให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จำนวน 7 คน ทั้งนี้ กรรมการจะต้องมีอายุ 45-70 ปี วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ติดต่อกันไม่เกิน 2 วาระ
- กำหนดให้มีคณะกรรมการคัดสรร จำนวน 7 คน ทำหน้าที่สรรหาคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า โดยสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการ
- กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่มีความเป็นอิสระทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ และการดำเนินงาน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลในปีแรก หลังจากนั้นให้จัดสรรเงินจากค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการค้าในอัตราร้อยละ 10 มาเป็นค่าใช่จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงานเป็นประจำทุกปี รวมทั้งสามารถจัดเก็บรายได้เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงานของสำนักงานได้
- กำหนดให้ทบทวนเกณฑ์ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในระยะเวลา 5 ปี
- กำหนดให้ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ แม้ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำนอกราชอาณาจักร และผลแห่งการกระทำเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ต้องรับโทษในราชอาณาจักร
- กำหนดให้ฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และเพิ่มขั้นตอนกรณีอัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์แล้วส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งคดี
- กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ แจ้งต่อคณะกรรมการก่อนดำเนินการรวมธุรกิจ และส่งงบการเงินเพื่อติดตามผลของการรวมธุรกิจอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี
- กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับคำสั่งคณะกรรมการฯ สามารถอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการฯ ได้
- กำหนดให้คณะกรรมการฯ กำหนดหลักเกณฑ์การลดหย่อนโทษปรับแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ตัวการสำคัญในพฤติกรรมการตกลงร่วมกัน จำกัด หรือลดการแข่งขันทางการค้าที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาของศาล
- เพิ่มโทษปรับทางอาญาในทุกพฤติกรรมความผิดจากเดิม 6 ล้านบาทเป็นร้อยละ 20 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด ทั้งนี้ ได้ยกเลิกโทษจำคุกสำหรับกรณีการรวมธุรกิจ การตกลงร่วมกันที่กำหนดให้ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถขออนุญาตต่อคณะกรรมการฯ ได้
- เพิ่มโทษปรับทางปกครอง กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการฯ โดยหลักเกณฑ์การคำนวณค่าปรับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
- เพิ่มบทลงโทษกรณีการร้องเรียน ร้องทุกข์ หรือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการ
ดัชนีความเคลื่อนไหวของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
กฎหมายภาษีอากรที่น่าสนใจ
กฎกระทรวงฉบับที่ 310 (พ.ศ.2558) ออกตามความในประมวลรัษฏาว่าด้วยการยกเว้นรัษฏากร
พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 41) พ.ศ. 2559
พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 42) พ.ศ. 2559
คำชี้แจงกรมสรรพากร
การยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5812/2557
การออกหุ้นเพิ่มทุนในมูลค่าส่วนเกินเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีที่ต้องชำระ
กค 0702/560 ลงวันที่ 25 มกราคม 2559
ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการส่งเสริมการขาย
กค 0702/11530 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2558
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา