Topix
ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเรื่องการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ตามคุณค่าโครงการและมาตรการช่วยเหลือในเหตุอุทกภัย
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 2/2560 และที่ 3/2560 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 2/2560 เรื่องการปรับปรุงสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ ไห้เพิ่มอัตราสัดส่วนที่ใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้น เช่น
- การวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้คำนวณโดยใช้สัดส่วนร้อยละ 300 ของการลงทุนหรือค่าใช้จ่าย
- ค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิเทคโนโลยีที่พัฒนาจากแหล่งในประเทศ การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีชั้นสูง การพัฒนาและการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศ (ผู้ถือหุ้นต้องมีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน) และการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ให้คำนวณโดยใช้สัดส่วนร้อยละ 200 ของการลงทุนหรือค่าใช้จ่าย
สำหรับประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 3/2560 เรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีอำนาจอนุมัติมาตราการที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
- ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากอุทกภัย โดยต้องเป็นการนำเข้าทั้งเครื่องจักรใหม่และเครื่องจักรใช้แล้วเพียงครั้งเดียว (เครื่องจักรที่ใช้แล้วต้องมีอายุไม่เกิน 10 ปี และมีใบรับรองจากสถาบันที่มีอายุไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันได้รับอนุมัติ) ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับผลกระทบต้องยื่นใบอากรขาเข้า ใบรับรองจากสถาบัน หลักฐานประเมินความเสียหายของเครื่องจักรที่แสดงมูลค่าความเสียหายและภาพถ่าย ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ในกรณีถ้าระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรของโครงการยังไม่สิ้นสุด ให้ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับผลกระทบใช้ระยะเวลาเดิม และอาจขอขยายเวลาการนำเข้าเครื่องจักรได้ แต่ถ้าระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรของโครงการสิ้นสุดลงแล้ว ให้กำหนดเวลานำเข้าเครื่องจักรเริ่มตั้งแต่วันที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ และสิ้นสุดเมื่อครบกำหนด 2 ปีนับแต่วันได้รับอนุมัติ
- ให้เพิ่มกำลังการผลิตตามกำลังการผลิตจริงของเครื่องจักรที่นำเข้ามา
- ให้ตัดบัญชีวัตถุดิบและวัสดุที่จำเป็นที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย โดยไม่มีภาระภาษีอากร และยื่นหลักฐานขอตัดบัญชีวัตถุดิบภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2560
การแก้ไขประมวลรัษฎากรให้ทันสมัยและเพิ่มเรื่องธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการถ่ายโอนกำไรของบริษัทข้ามชาติ
นายกรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อมายกร่างแก้ไขประมวลรัษฎากร ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบได้ในเดือนกันยายนนี้
จุดประสงค์ในการแก้ไขคือ
- ปรับปรุงประมวลรัษฎากรให้ทันสมัย เช่น เรื่องการประเมิน การอุทธรณ์ อายุความ การควบคุมกำกับ และการเปิดเผยข้อมูลให้เชื่อมโยงกับข้อมูลของหน่วยงานอื่น ๆ
- เพิ่มเติมเรื่องใหม่ ๆ เช่น การเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งโซเชียลมีเดียข้ามชาติ และเรื่องการป้องกันการถ่ายโอนกำไรของบริษัทข้ามชาติ
- แก้ไขประมวลรัษฎากรให้สอดคล้องกับกฎหมายภาษีอื่น ๆ เช่น กฎหมายสรรพสามิต กฎหมายศุลกากร
เรื่องการเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ จะมีการแยกหมวดเฉพาะในประมวลรัษฎากร และจะตั้งหน่วยงานกำกับดูแลการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต โดยจะตรวจสอบการชำระเงินผ่านทางระบบอีเพย์เมนต์ และให้ผู้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าเป็นผู้นำส่งภาษีให้กรมสรรพากร อีกเรื่องคือการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ประกอบการต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ค กูเกิล ยูทูบ จะใช้วิธีให้บริษัทที่จะส่งเงินไปต่างประเทศมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก่อน ผ่านช่องทางการชำระเงินทางอินเตอร์เน็ต
นอกจากนี้จะเพิ่มเรื่องการป้องกันการถ่ายโอนกำไรของบริษัทข้ามชาติ เช่น มีการกำหนดเพดานในการโอนกำไรในรูปของดอกเบี้ยจากการกู้เงิน และกำหนดสัดส่วนหนี้ต่อทุนในการขายหุ้นระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก ที่จะหักเป็นรายจ่ายได้ และเพิ่มมาตรการป้องกันการตั้งทุนต่ำด้วย
แนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรเรื่องการพิจารณาเหตุอันสมควร
ตามแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรที่ มก. 53/2560 มีการกำหนดสาระสำคัญของเหตุอันสมควรตามมาตรา 67 ตรี ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ดังนี้
- มีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีการประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิ (หรือกำไรสุทธิรวมของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน) ในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน
- เหตุการณ์อันไม่สามารถควบคุมได้ ที่เกิดใน 6 เดือนหลังของรอบระยะเวลาบัญชี เช่น บริษัทไม่มีรายได้ อัตราดอกเบี้ยลดต่ำ ความไม่แน่นอนในการส่งออก เป็นต้น
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีกำไรจากการขายทรัพย์สินที่ใช้ประกอบการหลังจากพ้นรอบครึ่งปีของการยื่นแบบเสียภาษี
- เหตุอันสมควรตามมาตรา 67 ตรี ยังรวมถึงกรณีต่อไปนี้
- ประมาณการกำไรสุทธิที่ได้ยื่นในรอบครึ่งปีมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว หรือ
- ประมาณการกำไรสุทธิมีจำนวนไม่น้อยกว่ากำไรสุทธิที่ได้ยื่นในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว และได้ยื่นในรอบครึ่งปีไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว
- มีประมาณการกำไรสุทธิของกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนขาดไปไม่เกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิของกิจการนั้น หรือ
- มีประมาณการกำไรสุทธิตามแบบแสดงรายการภาษีที่ยื่นเพิ่มเติมภายหลังระยะเวลาให้ยื่นแบบ ขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
- • เหตุอันสมควรที่เกิดจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเคยยื่นประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิจากกิจการโดยไม่มีเหตุอันสมควร แต่เจ้าพนักงานประเมินพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ทำให้เห็นได้ว่ามีประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิจากกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
ดัชนีความเคลื่อนไหวของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
กฎหมายภาษีอากรที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1987-2026/2558
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13798/2557
พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2560
คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2560
การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออํานวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 635) พ.ศ. 2560
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 636) พ.ศ. 2560
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 637) พ.ศ. 2560
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 3)
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ่ายไปในการลงทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน หรือการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบท
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 286)
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 287)
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียว เพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48 (5) และมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 288)
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
คำชี้แจงกรมสรรพากร
กำหนดเวลาการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร สำหรับตราสารบางลักษณะ
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 41/2560
การขยายเวลาการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
กค 0702/10780 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2559
ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ