ดัชนีความเคลื่อนไหวของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
Topix
ความตกลงเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 อธิบดีกรมสรรพากรแจ้งว่า ความตกลงเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2560 ผู้เสียภาษีสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ความตกลงดังกล่าวช่วยขจัดหรือบรรเทาภาระภาษีซ้ำซ้อนระหว่างประเทศ เสริมสร้างการลงทุนระหว่างกัน ช่วยให้ประเทศไทยแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น เช่น นักลงทุนไทยจะเสียภาษีเงินได้จากเงินปันผล ดอกเบี้ย หรือค่าสิทธิ ที่ได้รับจากประเทศกัมพูชาในอัตราภาษีที่ต่ำกว่าอัตราภาษีภายในประเทศไทย
ความตกลงนี้เป็นความตกลงเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อนฉบับที่ 61 ที่รัฐบาลไทยจัดทำกับรัฐบาลต่างประเทศ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร เมนูความรู้เรื่องภาษี หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร 1161
มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ) ซึ่งกำหนดมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาภาระให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีต้นทุนแรงงานเป็นส่วนสำคัญในการประกอบกิจการให้มีศักยภาพในการแข่งขันในประเทศได้ และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้
- นายจ้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการรวมกันไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ สามารถนำรายจ่ายค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างมาหักเป็นรายจ่ายได้เป็นจำนวน 1.15 เท่าของค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้าง
ค่าจ้างรายวัน หมายถึง เงินค่าจ้างที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายวัน โดยค่าจ้างรายวันนั้น ไม่รวมถึงค่าล่วงเวลา เบี้ยเลี้ยง ประโยชน์อื่นใดที่คำนวณได้เป็นเงิน ภาษีอากรที่ผูจายออกแทนให้ ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงาน - บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรการดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ดังนี้
- ต้องมีการจ่ายค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้างในอัตราที่สูงกว่าอัตราค่าจ้างรายวันเดิมที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นได้กำหนดและประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป หรือที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างก่อนวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561
- ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างงานในกรณีอื่น ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
ทั้งนี้ สำหรับค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561
เตือนระวังภัยแก๊งค์ Call Center หลอกคืนภาษีผ่านตู้ ATM
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 กรมสรรพากรได้แถลงข่าวว่า ตามที่มีแก๊งค์ Call Center โทรศัพท์ไปถึง ผู้เสียภาษี อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรขอตรวจสอบเรื่องเงินภาษี การขอคืนภาษี รวมทั้งหลอกสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงินของผู้เสียภาษีและให้ผู้เสียภาษีไปทำธุรกรรมที่ตู้ ATM ส่งผลให้มีผู้เสียภาษีหลายรายหลงเชื่อและสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมากนั้น กรมสรรพากรไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลเหล่านี้ของผู้เสียภาษีแต่อย่างใด หากกรมสรรพากรมีข้อสงสัยหรือต้องการเอกสารเพิ่มเติมจะมีหนังสือแจ้งไปถึงผู้เสียภาษีแต่ละราย และสำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ชำระภาษีไว้เกิน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานเอกสารแล้วเสร็จ จะดำเนินการคืนภาษีให้ผ่านระบบพร้อมเพย์ ที่ลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลัก หรือส่งเป็นเช็คธนาคาร โดยระบุชื่อ-สกุลของผู้ขอคืน และส่งไปให้ทางไปรษณีย์ตามภูมิลำเนาที่ผู้ขอคืนแจ้งไว้เท่านั้น ผู้เสียภาษีจึงไม่ต้องไปทำธุรกรรมใด ๆ เพื่อรับเงินภาษีคืนที่ตู้ ATM แต่อย่างใด นอกจากนี้หากผูเสียภาษีได้รับโทรศัพท์ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรและมีพฤติกรรมดังที่กล่าวไว้ข้างต้น โปรดอย่าหลงเชื่อและสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์นิเทศสรรพากร โทร. 1161 และสำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ ในวันและเวลาราชการ
การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 30 มกราคม 2561 ดังนี้
- รับทราบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 19 มกราคม 2561 มีสาระสำคัญเป็นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น 8-20 บาท/วัน ในทุกจังหวัด แบ่งออกเป็น 7 ระดับ ได้แก่
ระดับ | จำนวน(บาท) / วัน | จำนวนจังหวัด | จังหวัด |
---|---|---|---|
1 | 308 บาท/ วัน | 3 | นราธิวาส ปัตตานี และยะลา |
2 | 310 บาท/ วัน | 22 | กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุทัยธานี |
3 | 315 บาท/ วัน | 21 | กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์ |
4 | 318 บาท/ วัน | 7 | กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี มุกดาหาร สกลนคร และ สมุทรสาคร |
5 | 320 บาท/ วัน | 14 | กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี |
6 | 325 บาท/ วัน | 7 | กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร |
7 | 330 บาท/ วัน | 3 | ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง |
ในส่วนของการใช้อัตราค่าจ้างลอยตัว คณะรัฐมนตรีให้กระทรวงแรงงานศึกษาข้อดีข้อเสียของการปรับใช้อัตราค่าจ้างครั้งนี้ว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างไร และให้กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสากหรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น กำหนดมาตราการ เพื่อลดผลกระทบจากการปรับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้ แก่ผู้ประกอบการต่างๆ ด้วยเช่นกัน
กฎหมายภาษีอากรที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7432/2559
การตรวจนับสินค้าคงเหลือและการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 651) พ.ศ. 2561
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 652) พ.ศ. 2561
ประกาศกรมศุลกากรที่ 178/2560
การคืนอากรทั่วไป
ประกาศกรมศุลกากรที่ 18/2561
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการส่งแบบแจ้งการประเมินอากร
กค 0702/6322 ลงวันที่ 28 กันยายน 2560
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรแสตมป์ กรณีธุรกิจขายทอดตลาด