ข่าวกฎหมายภาษี ฉบับที่ 255 เดือนมีนาคม 2561

ข่าวกฎหมายภาษี ฉบับที่ 255 เดือนมีนาคม 2561

ดัชนีความเคลื่อนไหวของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

Topix

ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอ “ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว พ.ศ. …” ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก “ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งนิติบุคคลโดยบุคคลเดียว พ.ศ. …” และได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และในอนาคตจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

จุดประสงค์ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อให้การลงทุนจัดตั้งบริษัทจำกัดเกิดความสะดวกมากขึ้น ทำให้การประกอบธุรกิจมีความง่ายขึ้น และทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) เข้าสู่ระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลของภาครัฐ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่

  1. บุคคลคนเดียวสามารถจัดตั้งบริษัท เรียกว่า “บริษัท…จำกัด (คนเดียว)” ซึ่งบริษัทนี้จะมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  2. บุคคลคนเดียวที่มีสัญชาติไทยสามารถจัดตั้งบริษัทได้หนึ่งบริษัท โดยเจ้าของบริษัทต้องรับผิดเท่ากับจำนวนทุนที่นำมาลงในบริษัท และต้องชำระทุนจดทะเบียนเต็มจำนวน ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่อนุญาตให้คนต่างชาติจัดตั้งบริษัทเพียงคนเดียว
  3. ในการบริหารจัดการ เจ้าของบริษัทสามารถแต่งตั้งตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นกรรมการบริหารกิจการได้ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องการเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับอำนาจการควบคุมการบริหารงานและการครอบงำกิจการโดยคนต่างชาติด้วย เพื่อป้องกันคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างชาติ
  4. ร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเรื่องรายการการจัดตั้งบริษัทจำกัดโดยบุคคลเดียว การจ่ายเงินปันผล การเพิ่มทุนและลดทุน การเลิกบริษัท และการถอนทะเบียนร้าง ที่มีความเฉพาะเจาะจงและสะท้อนลักษณะของการเป็นบริษัทจำกัดโดยบุคคลเดียว จึงมีความยืดหยุ่นกว่าบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  5. บริษัทตามร่างพระราชบัญญัตินี้สามารถแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดได้ เมื่อบริษัทจัดหาองค์ประกอบได้ครบตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดตั้งบริษัทจำกัด เช่น จำนวนผู้ร่วมลงทุน
  6. ร่างพระราชบัญญัตินี้ยังมีบทกำหนดโทษและค่าธรรมเนียมสำหรับบริษัทไว้เป็นการเฉพาะด้วย

การเชื่อมโยงฐานข้อมูลงบการเงินและการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลเข้าด้วยกัน

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 กรมสรรพกรและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการรับและนำส่งข้อมูลงบการเงินให้กรมสรรพากร สำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) ของกรมสรรพากร เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการในการยื่นงบการเงินแก่สองหน่วยงาน เพื่อยกระดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศ ตามรายงาน Ease of Doing Business ของธนาคารโลก และเพื่อยกระดับความร่วมมือและการให้บริการของหน่วยงานของรัฐ

จากเดิมที่ผู้ประกอบการสามารถยื่นงบการเงินได้ 2 ช่องทาง คือ การยื่นงบการเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) และการยื่นงบการเงิน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา หลังจากมีบันทึกข้อตกลงนี้ ผู้ประกอบการสามารถนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD e-Filing) ได้อีกช่องทางหนึ่ง ทำให้ในขณะนี้ผู้ประกอบการจะได้รับความสะดวกในการยื่นงบการเงินได้ 3 ช่องทาง

การหักเงินลูกจ้างคนต่างด้าวเพื่อชำระค่าใช้จ่ายที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน

ร่างพระราชกำหนดการบริการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่…) พ.ศ. … ได้ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อเดือนมกราคม 2561 และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเร็ว ๆ นี้ โดยร่างพระราชกำหนดดังกล่าวมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายมาตรา รวมถึงบทบัญญัติที่สำคัญในมาตรา 49 เกี่ยวกับการให้สิทธินายจ้างหักเงิน เพื่อชำระค่าใช้จ่ายที่อยู่ในความรับผิดชอบของลูกจ้างคนต่างด้าวได้

โดยหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 76 (1) ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้างของลูกจ้าง เว้นแต่เป็นการชำระเงินอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และพระราชกำหนดการบริการการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับเดิม) มาตรา 49 ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับเงิน/ทรัพย์สินจากลูกจ้างคนต่างด้าวเพื่อการนำคนต่างด้าวมาทำงาน อย่างไรก็ดีในร่างพระราชกำหนดดังกล่าว มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 49 โดยเพิ่มข้อยกเว้นให้นายจ้างสามารถหักเงินลูกจ้างคนต่างด้าวได้ ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  1. นายจ้างสามารถหักเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายที่อยู่ในความรับผิดชอบของลูกจ้างคนต่างด้าวและเป็นเงินที่นายจ้างได้ออกไปก่อน ได้แก่ ค่าหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ ค่าใบอนุญาตทำงาน หรือค่าใช้จ่ายอื่นทำนองเดียวกันตามที่อธิบดีกระทรวงแรงงานกำหนด
  2. นายจ้างสามารถหักได้จากค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุด ของลูกจ้างคนต่างด้าว ตามอัตราที่นายจ้างได้จ่ายจริง
  3. นายจ้างต้องหักเงินไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่ลูกจ้างคนต่างด้าวมีสิทธิได้รับในแต่ละเดือน
  4. ถ้านายจ้างไม่มีข้อตกลงเป็นอย่างอื่น (เช่น ไม่มีข้อตกลงว่านายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกจ้างคนต่างด้าวทั้งหมด) เมื่อนายจ้างออกค่าเดินทางให้ก่อน นายจ้างสามารถหักค่าเดินทางจากเงินที่ลูกจ้าง คนต่างด้าวมีสิทธิได้รับในแต่ละเดือนได้

กฎหมายภาษีอากรที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5560/2559 58

เหตุในการออกใบลดหนี้ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2560 59

บุคคลที่มีชื่อในโฉนดที่ดินสมควรได้รับการเรียกเก็บภาษีหรือไม่

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 653) พ.ศ. 2561 60

ประกาศกรมศุลกากรที่ 5/2561 61

กระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง(Pre-Arrival Processing)

ประกาศกรมศุลกากรที่ 16/2561 65

การกำหนดมูลค่าของรายการค่าประกันภัย ค่าขนส่งของค่าขนของลง ค่าขนของขึ้น หรือค่าจัดการต่างๆ

กค 0702/8355 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2560 69

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการออกค่าภาษีโรงเรือนแทนผู้ให้เช่า

Comments are closed.

.