ข่าวกฎหมายภาษี ฉบับที่ 257 เดือนพฤษภาคม 2561

ข่าวกฎหมายภาษี ฉบับที่ 257 เดือนพฤษภาคม 2561

ดัชนีความเคลื่อนไหวของ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

Topix

การแก้ไขพระราชบัญญัติเงินทดแทน

ร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. …กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเห็นชอบของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่ 2 โดยมีการแก้ไขสาระสำคัญ ดังนี้

  1.  ขยายความคุ้มครองลูกจ้าง กรณีลูกจ้างของส่วนราชการ ลูกจ้างที่ทำงานในองค์กรของนายจ้างที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ และลูกจ้างที่ได้รับจ้างทำงานในประเทศให้แก่ สถานเอกอัครราชทูตและองค์การระหว่างประเทศ
  2.  แก้ไขหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และเพิ่มอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงาน และค่าทำศพ กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย เช่น เพิ่มอัตราค่าทดแทนจาก 60% เป็น 70% ของค่าจ้างรายเดือน เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างทุพพลภาพ เป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี และกรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย เป็นไม่น้อยกว่า 10 ปี เป็นต้น
  3.  แก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทน จากเดิมที่จะมีการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกิน 3 วัน เป็นการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถ ทำงาน และยังมีการเพิ่มการจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
  4.  แก้ไขให้ปรับลดเงินเพิ่มกรณีนายจ้าง ค้างชำระเงินสมทบ ลดจากร้อยละ 3 ต่อเดือน เป็นร้อยละ 2 ต่อเดือน และกำหนดเกณฑ์การคำนวณเงินเพิ่ม อัตราสูงสุดของเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินที่นายจ่ายจ่ายสมทบ

แก้ไขเพิ่มเติมประมวล รัษฎากรเรื่องการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล

ในวันที่ 13 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) เนื่องจากในปัจจุบันมีการนำทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้ในการประกอบธุรกิจและการทำกิจกรรม ทางเศรษฐกิจและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คณะรัฐมนตรีจึงเห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อให้ผู้มีเงินได้ เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลเสียภาษีตามกฎหมายอย่างครบถ้วนถูกต้อง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1.  กำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัลในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ ทรัพย์สินดิจิทัล หมายความว่า (1) คริปโทเคอร์เรนซี (2) โทเคนดิจิทัล และ (3) ทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด
  2.  เพิ่มประเภทเงินได้พึงประเมินในมาตรา 40(4) แห่งประมวลรัษฎากร ให้รวมถึงเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นได้ที่ได้จากทรัพย์สินดิจิทัล (ร่างมาตรา 40(4)(ซ)) และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินดิจิทัล เฉพาะผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้และมี มูลค่าเกินกว่าเงินลงทุน (ร่างมาตรา 40(4)(ฌ))
  3. กำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและ นิติบุคคลสำหรับเงินได้พึงประเมินตามร่างมาตรา 40(4)(ซ) และ 40(4)(ฌ) โดยให้บุคคลธรรมเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินข้างต้น และนิติบุคคลเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในอัตราที่กฎกระทรวงและคำสั่งกรมสรรพากรกำหนด

การแก้ไขพระราชบัญญัติ การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา

ในวันที่ 10 เมษายน 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ที่กระทรวงการคลังเสนอ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1.  เพิ่มเติมนิยาม “คู่สัญญา” เพื่อให้สัญญาดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ครอบคลุมคู่สัญญาทุกประเภท จากเดิมกำหนดเฉพาะคู่สัญญาตามสัญญาไม่ต่างตอบแทน ต่อมาจึงเพิ่มคู่สัญญาตามสัญญาต่างตอบแทนด้วย
  2.  แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของผู้ดูแลผล ประโยชน์ของคู่สัญญา ให้มีหน้าที่ (1) ดูแลให้คู่สัญญาปฏิบัติการชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด (2) ดูแลรักษาเงิน ทรัพย์สิน หรือเอกสารหลักฐานที่คู่สัญญาได้ส่งมอบ(เช่น สัญญาที่มีการชำระเงิน ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาต้องดำเนินการเปิดบัญชี นำเงินฝากเข้าบัญชี และออกหลักฐานรับรองการฝากเงิน) และ (3) การดำเนินการส่งมอบเงินหรือโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในทรัพย์สินให้แก่คู่สัญญา (เช่น กรณีทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาต้องมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายถึงการส่งมอบ หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน หรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด จากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง)
  3.  แก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการกำกับการ ประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ มีอำนาจกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ และมีอำนาจออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองแก่ผู้ ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาที่ดำเนินกิจการ ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศที่คณะกรรมการฯ กำหนด

การขยายระยะเวลาการยื่น เอกสารทางบัญชีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร วันที่ 27 เมษายน 2561 เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการยื่นบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับรายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร (“เอกสารทางบัญชี”) (ฉบับที่ 3) โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ นิติบุคคลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สามารถยื่นเอกสารทางบัญชีได้อีก 8 วัน หลังจากวันพ้นกำหนดเวลาการยื่นเอกสารทางบัญชีดังกล่าว และใช้บังคับกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีรอบระยะเวลาบัญชีที่วันสุดท้ายแห่งกำหนด เวลาในการยื่นเอกสารทางบัญชีตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2562

กฎหมายภาษีอากรที่น่า สนใจ

กฎกระทรวงฉบับที่ 335 (พ.ศ.2561) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

กฎกระทรวงฉบับที่ 337 (พ.ศ.2561) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

กฎกระทรวง

กําหนดอัตราค่าธรรมเนียม ลดอัตราค่าธรรมเนียม และยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการขอตรวจเอกสาร การขอสําเนาเอกสารพร้อมคํารับรอง และค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจํากัด พ.ศ. 2561

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 318)

กำหนดการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี และสถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี

ระเบียบกรมสรรพากร

ว่าด้วยการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

กค 0702/881            ลงวันที่    31 มกราคม 2561

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

กค 0702/2065            ลงวันที่    9 มีนาคม 2561

    ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีสวัสดิการพนักงาน

กค 0702/2167            ลงวันที่    14 มีนาคม 2561

    ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคืนภาษีอากร

Comments are closed.

.