ข่าวกฎหมายภาษี ฉบับที่ 245 เดือนพฤษภาคม 2560

ข่าวกฎหมายภาษี ฉบับที่ 245 เดือนพฤษภาคม 2560

Topix

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 มีเนื้อหาทั้งหมด 16 หมวด 279 มาตรา รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้แก้ไขเนื้อหาในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพบุคคลให้ชัดเจนขึ้น และแก้ไขเนื้อหาใหม่ ๆ บางประการ ดังนี้

  • มีการกำหนดเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้ชัดเจนขึ้นหลายเรื่อง เช่น
    1. คุ้มครองสิทธิของบุคคลจากโทษทางอาญา ตั้งแต่การถูกควบคุมหรือคุมขัง การขอประกันตัวไปจนถึงการพิจารณาคดีและการถูกตัดสินคดีในศาล (มาตรา 29)
    2. ให้บุคคลมีเสรีภาพแสดงความคิดเห็นเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และมีเสรีภาพทางวิชาการเท่าที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมและไม่ปิดกันความเห็นต่างของบุคคลอื่น (มาตรา 34)
    3. ให้บุคคลมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองได้ตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 45) หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คนเข้าชื่อเสนอกฎหมายว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน และหน้าที่ของรัฐได้ (มาตรา 133)
  • มีการกำหนดหน้าที่ของบุคคลและหน้าที่ของรัฐ และการตรากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องภาษีอากรให้ชัดเจนขึ้น กล่าวคือ บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 50) และรัฐต้องรักษาวินัยทางการเงินการคลังและจัดระบบภาษีให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม (มาตรา 62) ในกรณีมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายภาษีอากร พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ (มาตรา 174)
  • มีการเปลี่ยนแปลง และกำหนดเนื้อหาใหม่ที่น่าสนใจ เช่น
    1. เรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในนามพระมหากษัตริย์สำหรับระเบียบการที่สำคัญ (มาตรา 5, 12, 15-17, 19 และ 182)
    2. ให้ภาครัฐต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน (มาตรา 76) มีกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริต (มาตรา 63, 78) และรัฐธรรมนูญได้แยกหมวดหน้าที่ของรัฐ กับการปฏิรูปประเทศ ให้ชัดเจนขึ้น
    3. เรื่องการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม คือ ใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ สำหรับการเลือกตั้งทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ (มาตรา 85, 91)
    4. การที่บทเฉพาะกาล กำหนดให้แต่งตั้งบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ในช่วง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ (มาตรา 272) และให้ประกาศ คำสั่ง ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ขณะนี้ ยังมีผลใช้บังคับได้ต่อไปและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (มาตรา 279)

มาตรการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเรื่อง กรอบแนวทางการส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ และอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … เกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

  • โดย 5 กลุ่มอุตสากรรมหลักที่จะได้รับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ประกอบด้วย
    1. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และเทคโนโลยี
    2. กลุ่มอุตสาหกรรมสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์
    3. กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม
    4. กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษธ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว
    5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และการบริการที่มีมูลค่าสูง
  • และสาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ มีดังต่อไปนี้
    1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และกลุ่มบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสานพลังประชารัฐแล้ว สามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้สูงสุด 3 เท่า เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2560 ถึง 31 ธันวาคม 2562
    2. ค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแต่ละรายได้จ่ายไปเพื่อการทำวิจัยและพัฒนา ต้องไม่เกินกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับในปัจจุบัน ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559
    3. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลข้างต้น ต้องไม่ถือหุ้นทางตรงและทางอ้อม และไม่มีอำนาจควบคุมหรือกำกับดูแลการดำเนินงานหรือการบริหารงานไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ของผู้รับทำการวิจัย รวมทั้งต้องไม่นำรายจ่ายดังกล่าวไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ดัชนีความเคลื่อนไหวของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

กฎหมายภาษีอากรที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5316/2559

ความรับผิดทางภาษีสำหรับหุ้นส่วนของกิจการร่วมค้า ภายหลังจากโอนความเป็นหุ้นส่วนให้แก่บุคคลอื่น

พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 45) พ.ศ. 2560

การเพิ่มเติมมาตรา 37 ตรี เพื่อให้การหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากร ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

กฎกระทรวง ฉบับที่ 325 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

กฎกระทรวง ฉบับที่ 326 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

ประกาศสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง

การยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด ผ่านระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) พ.ศ. 2560

ประกาศกระทรวงแรงงาน

ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) พ.ศ. 2560

พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 289)

กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของผู้ลงทุนในกิจการเงินร่วมลงทุน

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 290)

กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุที่มีอายุหกสิบปีขึ้นไป

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

การขยายกำหนดเวลาการยื่นบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับ รายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร

คำชี้แจงกรมสรรพากร

การขยายกำหนดเวลาการยื่นบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับ รายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร

ระเบียบกรมสรรพากร

ว่าด้วยการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice by Email พ.ศ. 2560

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 274/2560

มอบอำนาจให้ออกหมายเรียก เอกสาร หรือหลักฐานเกี่ยวกับข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ค้างภาษีอากร และหลักฐานเกี่ยวกับข้อมูลการถือหลักทรัพย์ของผู้ค้างภาษีอากรแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 12 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

แนวทางปฏิบัติกรมสรรพากร ที่ มก 53/2560

การพิจารณาเหตุอันสมควรตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

กค 0702/10505 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2559

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินได้ให้แก่พนักงานของสำนักงานผู้แทนในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

Comments are closed.

.