บริษัทจำกัดจ่ายเงินปันผลต้องกันสำรองตามกฎหมายอย่างไร

บริษัทจำกัดจ่ายเงินปันผลต้องกันสำรองตามกฎหมายอย่างไร

บริษัทจำกัดจัดสรรเป็นทุนสำรองตามกฎหมายเฉพาะเมื่อมีการจ่ายเงินปันผล หากบริษัทจำกัดไม่มีการจ่ายปันผล ก็ไม่ต้องมีการจัดสรรทุนสำรอง แต่บริษัทมหาชนจำกัดต้องจัดสรรทุนสำรองจากกำไรสุทธิ แม้ไม่ประกาศจ่ายปันผล แต่ไม่จำเป็นต้องรอให้สำรองครบก่อนถึงจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้

บริษัท อริยะ แท็กซ์ แอนด์ คอร์ปอแรท เซอร์วิส จำกัด

นิติบุคคล ปันผล ทุนสำรองตามกฎหมาย โทษ
บริษัทจำกัด ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไร ถ้าหากบริษัทขาดทุน ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจนกว่าจะได้แก้ไขให้หายขาดทุนเช่นนั้น (มาตรา 1201) ทุกคราวที่แจกเงินปันผล บริษัทต้องจัดสรรเงินไว้เป็นทุนสำรองอย่างน้อยหนึ่งในยี่สิบส่วนของจำนวนผลกำไรซึ่งบริษัททำมาหาได้จากกิจการของบริษัท จนกว่าทุนสำรองนั้นจะมีจำนวนถึงหนึ่งในสิบของจำนวนทุนของบริษัทหรือมากกว่านั้น (มาตรา 1202)*สำหรับประมวลแพ่งระบุว่าทุนสำรองจะต้องมาจากกำไร (ไม่ได้เจาะจงว่ากำไรอะไร) บริษัทจำกัดใดจ่ายเงินปันผล
1. จ่ายปันผลโดยไม่มีมติที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมกรรมการ กรณีปันผลระหว่างกาล
2. จ่ายจากเงินอื่นนอกจากกำไร หรือไม่ได้หักขาดทุนสะสมก่อน
3. ไม่จ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติ
4. ไม่หักสำรองตามกฎหมาย
มีความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินสองหมื่นบาท (มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจํากัด บริษัทจํากัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499)
บริษัทมหาชนจำกัด การจ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไรจะกระทำมิได้ ในกรณีที่บริษัทยังมียอดขาดทุนสะสมอยู่ ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผล(มาตรา 115) บริษัทต้องจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของกำไรสุทธิประจำปีหักด้วยยอดเงินขาดทุนสะสมยกมา (ถ้ามี) จนกว่าทุนสำรองนี้จะมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของทุนจดทะเบียน (มาตรา 116)

*พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดระบุว่าทุนสำรองต้องมาจากกำไรสุทธิประจำปีอย่างชัดเจน

1. กรณีที่บริษัทจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา 115 มาตรา 116 หรือมาตรา 117 เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ของบริษัทเสียเปรียบ เจ้าหนี้จะฟ้องผู้ถือหุ้นให้คืนเงินปันผลที่ได้รับไปแล้วก็ได้โดยต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติ แต่ผู้ถือหุ้นคนใดได้รับเงินปันผลไปแล้วโดยสุจริตจะบังคับให้คืนเงินมิได้ (มาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535)
2. การรับผิดตามมาตรา 118 ที่กล่าวในข้อ 1. กรรมการต้องรับผิดร่วมกันเพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดขึ้นแก่บริษัท เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้กระทำการโดยสุจริตและอาศัยหลักฐาน หรือรายงานทางการเงินที่ประธานกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัท หรือผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้ว (มาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535)

Comments are closed.